วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2555


คุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ
ปฏิรูปการศึกษากับ๘ คุณธรรมพื้นฐานที่ควรปลูกฝัง
           ด้วยภาวะวิกฤติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งประเทศไทยต้องเผชิญอยู่ขณะนี้ เมื่อพิจารณาอย่างรอบด้าน หนทางที่จะผ่อนคลายคนไทยทุกคนก็ควรหันหน้าเข้าหากัน ร่วมคิด ร่วมแรง ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา ทุกฝ่ายยอมลดเป้าหมายเพื่อพบกันครึ่งทาง เพื่อความอยู่รอด ปลอดภัย ความเจริญของประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จะด้วยวิธีใดก็ตามสิ่งสำคัญต้องอยู่บนรากฐานของคุณธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามควรแก่การประพฤติปฏิบัติ การพัฒนาบุคคลโดยใช้คุณธรรมนั้นเป็นสิ่งที่จะช่วยพัฒนาคนในชาติให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยกาย วาจา ใจ การศึกษาก็มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ การแข่งขันทางเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ก็ขึ้นอยู่กับการศึกษา การพัฒนาการเมืองก็ขึ้นอยู่กับการศึกษา สังคมกำลังเสื่อมโทรม ก็ต้องหันไปพึ่งการศึกษา การพัฒนาการศึกษาจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาประเทศ
               ในการนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศนโยบายเร่งรัด การปฏิรูปการศึกษา  โดยยึดคุณธรรมนำความรู้สร้างความตระหนักสำนึกในคุณค่าของ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความสมานฉันท์ สันติวิธี วิถีประชาธิปไตย พัฒนาคนโดยใช้คุณธรรมเป็นพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงความร่วมมือของสถาบันครอบครัว ชุมชน สถาบันศาสนา และสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาเยาวชนให้เป็นคนดี มีความรู้ และอยู่ดีมีสุขโดย  ๘ คุณธรรมพื้นฐาน ประกอบด้วย
                  ๑.  ขยัน  คือ ผู้ที่มีความตั้งใจเพียรพยายามทำหน้าที่การงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องในเรื่องที่ถูกที่ควร สู้งานมีความพยายาม ไม่ท้อถอย กล้าเผชิญอุปสรรค รักงานที่ทำ ตั้งใจทำหน้าที่อย่างจริงจัง
                  ๒.  ประหยัด  คือ ผู้ที่ดำเนินชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย รู้จักฐานะการเงินของตน คิดก่อนใช้ คิดก่อนซื้อ เก็บออมถนอมใช้ทรัพย์สินสิ่งของอย่างคุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ รู้จักทำบัญชีรายรับ รายจ่าย ของตนเองอยู่เสมอ
                  ๓.  ซื่อสัตย์  คือ ผู้ที่มีความประพฤติตรงทั้งต่อเวลา ต่อหน้าที่ และต่อวิชาชีพ มีความจริงใจปลอดจากความรู้สึกสำเอียง หรืออคติ ไม่ใช้เล่ห์กลคดโกงทั้งทางตรงและทางอ้อม รับรู้หน้าที่ของตนเองปฏิบัติอย่างเต็มที่และถูกต้อง
                 ๔.  มีวินัย  คือ ผู้ที่ปฏิบัติตนในขอบเขต กฎ ระเบียบของสถานศึกษา สถาบัน องค์กร และประเทศ โดยที่ตนยินดีปฏิบัติตามอย่างเต็มใจและตั้งใจยึดมั่นใน   ระเบียบแบบแผนข้อบังคับและข้อปฏิบัติ รวมถึงการมีวินัยทั้งต่อตนเองและสังคม
                 ๕.  สุภาพ  คือ ผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนตามสถานภาพและกาลเทศะ มีสัมมาคารวะ เรียบร้อยไม่ก้าวร้าว รุนแรง หรือวางอำนาจข่มผู้อื่นทั้งโดยวาจาและท่าทางเป็นผู้มีมารยาทดีงามวางตนเหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย
                ๖.  สะอาด  คือ ผู้ที่รักษาร่างกาย ที่อยู่อาศัย และสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้องตามสุขลักษณะ ฝึกฝนจิตไม่ให้ขุ่นมัว มีความแจ่มใสอยู่เสมอ ปราศจากความมัวหมองทั้งกาย ใจและสภาพแวดล้อมมีความผ่องใสเป็นที่เจริญตาทำให้เกิดความสบายใจแก่ผู้พบเห็น
               ๗.  สามัคคี  คือ ผู้ที่เปิดใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้บทบาทของตนทั้งในฐานะผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความมุ่งมั่นต่อการรวมพลัง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อให้การงานสำเร็จลุล่วง สามารถแก้ปัญหาและขจัดความขัดแย้งได้ เป็นผู้มีเหตุมีผล ยอมรับความแตกต่าง ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิดและความเชื่อ พร้อมที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติและสมานฉันท์
                ๘.  มีน้ำใจ  คือ ผู้ให้และผู้อาสาช่วยเหลือสังคม รู้จักแบ่งปัน เสียสละความสุขส่วนตน เพื่อทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น เห็นอก เห็นใจ และเห็นคุณค่าในเพื่อมนุษย์และผู้ที่มีความเดียดร้อน มีความเอื้ออาทรเอาใจใส่ อาสาช่วยเหลือสังคมด้วยแรงกายและสติปัญญาลงมือปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหา หรือร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดขึ้นในชุมชน

ที่มา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น